เหตุแห่งความรัก

เรียบเรียงโดย คุณอังคาร
จาก
- เหตุแห่งความรัก นำมาจาก สาเกตชาดก
- ประเภทของคู่และเหตุที่ทำให้ได้อยู่ร่วมกัน นำมาจากหนังสือท่าวิลาส
- เรื่องลำดับของคู่ คัดลอกมาจาก เว็บไซด์คนเมืองบัว
- เรื่องคู่บารมี สรุปมาจากการอ่านประวัติพระนางพิมพา

เหตุแห่งความรัก

ปุถุชนผู้ยังละกิเลสไม่ได้ เกิดมาก็ย่อมต้องมีความรักทั้งหญิงและชาย พระพุทธเจ้าทรงแสดงเหตุที่ทำให้หญิงชายรู้สึกรักกันไว้ใน สาเกต-ชาดก พระสุตตันตปิฏก เล่มที่ ๑๙ ดังนี้
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เหตุไรหนอ เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้พอเห็นกันเข้าก็เฉยๆ หัวใจก็เฉย บางคนพอเห็นกันเข้า จิตก็เลื่อมใส”
“ความรักนั้น ย่อมเกิดขึ้นด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ ด้วยการอยู่ร่วมกันในกาลก่อน ๑ ด้วยความเกื้อกูลต่อกันในปัจจุบัน ๑
เหมือนดอกอุบลและชลชาติ เมื่อเกิดในน้ำ ย่อมเกิดเพราะอาศัยเหตุ ๒ ประการ คือ น้ำและเปือกตม ฉะนั้น”
จึงจะเห็นว่าการที่หญิงชายมารักกัน ชอบกัน และอาจได้อยู่ร่วมกันนั้นไม่ใช่เหตุบังเอิญ แต่มีปัจจัยมาจาก ๒ ประการดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงเหตุไว้ แต่ก็ยังมีข้อสงสัยที่เกี่ยวเนื่องกับความรัก คู่ครอง เนื้อคู่ฯลฯ อีกมากมาย

คู่

บุพเพสันนิวาส คือ การได้เคยอยู่ร่วมกันในอดีตชาติ จนส่งผลให้ได้มาเป็นคู่ครองกันในปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่จะคิดว่าเคยอยู่ร่วมกันเป็นสามีภรรยาเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วบุพเพสันนิวาสหมายถึงการที่อาจจะได้อยู่ร่วมอันในฐานะอื่นก็ได้ เช่น พี่กับน้อง พ่อกับลูก แม่กับลูก เพื่อนครูกับศิษย์ นายกับบ่าว เป็นต้น การที่มีบุพเพสันนิวาสร่วมกันนี้เมื่อเกิดมาร่วมกัน ก็มักจะสร้างบุญสร้างกุศลร่วมกันมา ทำอะไรตามกัน มีความเห็นสอดคล้องกัน ทำให้อยู่ด้วยกันแล้วมีความสุข

เนื้อคู่ คือ หญิงและชายที่เคยได้ใช้ชีวิตร่วมกัน เป็นสามีภรรยากันมาก่อนในอดีตชาติ

คู่ครอง คือ หญิงและชายที่ใช้ชีวิตร่วมกัน เป็นสามีภรรยากันในชาติปัจจุบัน

คู่กรรม คือ หญิงและชายที่ใช้ชีวิตร่วมอันเป็นสามีภรรยา แต่มักไม่มีความสุข

เนื่องจากการมาอยู่ร่วมกันนั้นเกิดจากวิบากของกรรมที่ทำรวมกันหรือวิบากกรรมที่มีต่อกันมาส่งผล เช่น อาจเคยทำบาปร่วมกัน หรือเคยเป็นศัตรูกันมาก่อน เป็นต้น

คู่บารมี คือ เนื้อคู่ที่ได้ติดตามกันมา ส่งเสริมกันและกันในทางที่ดี ได้ใช้ชีวิตร่วมกันในฐานะสามีภรรยาร่วมกันนับญาติไม่ถ้วน และจะติดตามกันต่อไปจนกว่าจะสามารถหลุดพ้นจากวัฎสงสารได้ มักใช้คำนี้กับพระโพธิสัตว์ที่บำเพ็ญบารมีกับเนื้อคู่ลำดับ ๑ ที่จะได้เป็นคู่ครองกันในชาติสุดท้าย

เหตุแห่งการได้อยู่ร่วมกัน

ดังที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงเหตุที่หญิงชายได้รักและได้เป็นสามีภรรยากันนั้น มี ๒ ปัจจัย คือ

๑. การได้อยู่ร่วมกันในกาลก่อน
๒. การได้เกื้อหนุนกันในชาติปัจจุบัน

เนื่องจากวัฎสงสารยาวไกลจนหาจุดเริ่มต้นและที่สุดไม่ได้ หญิงชายแต่ละคนจึงมีเนื้อคู่มากมายเป็นหมื่นเป็นแสนคน แต่ละชาติที่เกิดมาก็อาจได้พบเจอเนื้อคู่ได้หลายๆ คนพร้อมๆ กัน หรืออาจไม่ได้เจอเนื้อคู่เลยสักคนก็เป็นได้ กรณีที่ไม่เจอเนื้อคู่เลยนั้น หญิงชายนั้นก็อาจมีคู่ได้กับบุคคลใกล้ชิดที่ได้เกื้อหนุนกันในปัจจุบัน ซึ่งเมื่อได้เป็นคู่กันในปัจจุบันแล้วหญิงชายนั้นก็จะได้เป็นเนื้อคู่กันต่อไป

ลำดับของเนื้อคู่

เพราะเหตุที่แต่ละคนมีเนื้อคู่จำนวนมากมาย จึงเป็นที่น่าสงสัยว่าแล้วใครกันเลยที่สมควรจะได้อยู่เป็นคู่ครองกันมากที่สุด และจะมีวิธีการเลือกอย่างไร แม้จะมีเนื้อคู่จำนวนมากมาย แต่จะมีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่เมื่ออยู่ร่วมกันแล้วมีความสุขที่สุด เมื่อพบหน้ากันแล้วไม่อาจตัดใจรักให้ขาดจากกันได้ บุคคลนี้คือเนื้อคู่ที่ได้อยู่ร่วมกันมามากที่สุดเป็นแสนเป็นล้านชาติ เป็นเนื้อคู่ลำดับที่ ๑ กฎแห่งกรรมจะจัดสรรการมีคู่ไว้ให้เราเรียบร้อย คือ หากเรามีเนื้อคู่เกิดมาพร้อมกัน ใจเราจะเป็นผู้เลือกโดยจะเลือกเนื้อคู่ลำดับต้นเสมอ เมื่อเลือกแล้วคู่ลำดับอื่นเขาจะหลีกทางและไปหาคู่ของเขาต่อไป แต่กฎแห่งกรรมอีกเช่นกัน ที่บางชาติกลับทำให้คู่ลำดับต้นๆ ได้มาพบกันทีหลัง

หลังจากที่อีกฝ่ายได้เลือกคู่ครองไปแล้วชึ่งแม้จะได้พบกันทีหสัง แต่เพราะเป็นคู่ลำดับต้น จิตใจของทั้งคู่ก็จะร้อนรนทนไม่ไหว จึงต้องรักกันอีกครั้งซึ่งความรักครั้งนี้ต้องหัก ต้องบังคับฝืนใจกันอย่างเต็มกำลัง กล่าวกันว่าแม้พระภิกษุผู้มั่งคั่งในศีล เมื่อได้เจอเนื้อคู่ลำดับต้นๆ ยังทนไม่ได้ ต้องสึกหาลาเพศมาอยู่กับเนื้อคู่ของตนจนได้ เหตุที่เนื้อคู่ลำดับต้นมาเกิดในชาติภพเดียวกัน แต่กลับไม่สมกันนั้น มีเหตุเดียว คือ กรรมพลัดพรากได้มาส่งผลเป็นวิบากแก่ทั้งคู่อย่างร้ายแรง หากกรรมนั้นใกล้จะหมดผลเขาทั้งสองก็อาจได้เป็นคู่ครองกันในชาตินั้น แต่หากกรรมนั้นยังรุนแรงอยู่ทั้งสองก็ต้องทนทุกข์ทรมานชดใช้กรรมนั้นให้หมด แล้วจึงจะได้มีวาสนาอยู่ร่วมกันในชาติต่อๆ ไป

เหตุที่อกหักผิดหวังในความรัก

นอกจากนี้การผิดหวังจากเนื้อคู่ลำดับต้นๆ ซึ่งเกิดจากกรรมพลัดพรากแล้ว บางครั้งคนเราก็อาจต้องผิดหวังในความรัก โดยมีเหตุมาจากกรรมทั้งสิ้น คืออยู่กับคู่ครองไม่มีความสุขทะเลาะเบาะแว้งกันเป็นประจำหรีอมีปัญหาให้ทุกข์ใจตลอด เหตุที่เป็นดังนี้ แสดงว่าคู่ครองนั้นไม่ใช่เนื้อคู่ลำดับที่ ๑-๕ เนื่องจากกรรมจากการเป็นคนไม่ดี ไม่มีศีลธรรมส่งผลให้ไม่ได้พบเนื้อคู่ลำดับต้นๆ

หรืออาจเป็นเพราะทั้งสองไม่ใช่เนื้อคู่กัน แต่ทั้งคู่เป็นศัตรูคู่อาฆาต ได้เคยผูกใจเจ็บกันมา ชาตินี้จึงต้องมาแก้แค้นกันเอง และแรงอาฆาตได้ผลักดันให้ทั้งสองมาอยู่ร่วมกัน และแก้แค้นกันเองตามแรงอาฆาตนั้นหรือบางคน รักเขาข้างเดียว อกหักบ่อยครั้ง โดยที่อีกฝ่ายไม่ได้สนใจด้วยเลย เหตุนี้เกิดขึ้นเนื่องจากอดีตชาติเคยอาฆาตเขาไว้ แต่เขาไม่ได้อาฆาตตอบและไม่ได้ถือโกรธด้วย ชาตินี้จึงต้องทนทุกข์ทรมานเพราะเขาอยู่เพียงฝ่ายเดียว อย่างนี้ไม่ได้เป็นเนี้อคู่ เป็นเพียงคู่กรรมเท่านั้น

ทำอย่างไรจึงจะได้อยู่ร่วมกัน

เมื่อความรักหวานชื่น คู่ครองทั้งหลายย่อมต้องอยากเกิดมาเป็นเนื้อคู่กันอีก ซึ่งผลกรรมก็ได้จัดสรรการเกิดมาเป็นคู่ครองกันอีกตามที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่นอกจากการรอให้กรรมเป็นตัวจัดสรรแล้ว เรายังสามารถเลือกที่จะได้พบและอยู่เป็นคู่ครองกับเนื้อคู่ของเราได้ในอนาคต โดยการอธิษฐาน แต่แม้จะมีอธิษฐานร่วมกัน สุดท้ายการได้อยู่ร่วมกันก็ยังต้องขึ้นอยู่กับกฎแห่งกรรมอยู่ดี การอธิษฐานนั้นมีทั้งประโยชน์และโทษคือ ในด้านประโยชน์ ทำให้เนื้อคู่ทั้งสองมีโอกาสกลับมาเป็นคู่ครองกันในชาติต่อๆ ไปได้ง่าย แต่ในแง่ของโทษ บางครั้งก็ทำให้การใช้ชีวิตไม่เป็นปกติสุข เช่น หากเนื้อคู่ที่อธิษฐานกันไว้ไม่ได้มาเกิด หรือมาเกิดแล้วแต่ยังไม่ได้พบกัน ฝ่ายที่รออยู่จะไม่สามารถมีคู่ได้ จิตใจไม่รักใคร หรือแม้จะได้พบเนื้อคู่ลำดับอื่นๆ แต่ก็มีเหตุให้ไม่สมหวังทุกครั้งไป เนื่องจากแรงอธิษฐานนั้นฉุดรั้งไว้ หรือบางครั้งจิตใจก็มีสังหรณ์อยู่เสมอว่ารอคอยใครอยู่ ทั้งที่ไม่รู้ว่ารอคอยใคร

การแก้ปัญหาเรื่องอธิษฐาน

หากแน่ใจว่าเนื้อคู่ที่อธิษฐานกันไว้คงไม่ได้พบเจอกันแน่แล้ว หรืออยากจะปล่อยวางเพื่อมีโอกาสได้ตัดสินใจกับเนื้อคู่ลำดับอื่น สามารถทำได้ง่ายๆ เพียงอธิษฐานขออนุญาตเนื้อคู่ว่าขอละคำอธิษฐานนั้น ขอให้ชีวิตได้พบเนื้อคู่ที่สมกัน และได้ใช้ชีวิตคู่อย่างปกติและมีความสุข

คู่บารมี

สุดท้ายคือเรื่องของคู่บารมี เป็นคู่สำคัญ เป็นคู่ที่ยาวนาน เพราะต้องร่วมกันสร้างบารมีขณะที่ฝ่ายหนึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นเนื้อคู่ที่จะเคียงข้างกันไป การเป็นพระโพธิสัตว์นั้นต้องการกำลังใจที่เข้มแข็ง มั่นคง และเสียสละความสุขทั้งปวงเพื่อประโยชน์ของสัตว์โลกพระโพธิสัตว์นั้นต้องใช้เวลายาวนานมากในการสร้างสมบุญบารมีกว่าที่จะสามารถตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ อย่างเร็วที่สุดก็ต้องใช้เวลาถึง ๒๐ อสงไขยกับเศษแสนมหากัป และอย่างช้าก็เนิ่นนานจนถึง ๘๐อสงไขยกับเศษแสนมหากัปเลยทีเดียว

คนที่ตั้งใจเป็นคู่บารมีจึงต้องมีความเสียสละและเด็ดเดี่ยวไม่แพ้กันบุคคลผู้ปรารถนาเป็นคู่บารมีนั้น จะเป็นผู้ที่ได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกันมากที่สุดได้เป็นคู่ครองกันมากที่สุด และเป็นเนี้อคู่ลำดับ ๑ อย่างเที่ยงแท้ การเป็นคู่บารมีนั้นลำบากมากยิ่งนัก เพราะคนเป็นคู่บารมีนั้นจะต้องพบกับสิ่งต่อไปนี้ คือ ต้องเกิดเป็นผู้หญิง ไม่ได้เกิดเป็นผู้ชาย ต้องช่วยพระโพธิสัตว์ทำงานอย่างเต็มกำลัง ในบางชาติอาจต้องร่วมสร้างบารมีกับ พระโพธิสัตว์ เช่น ต้องสละชีวิตร่วมกัน ต้องถูกบริจาคลูก หรือตัวเองเพื่อเสริมบารมีให้พระโพธิสัตว์ เป็นต้น ตราบใดที่พระโพธิสัตว์ยังไม่ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า คู่บารมีนั้นก็ยังไม่มีโอกาสบรรลุโลกุตรธรรมได้

จัดระเบียบความตาย

นิ

ทานเซนเรื่องหนึ่ง เล่าว่ามีคหบดีคนหนึ่งพร้อมบุตรหลานไปทำบุญที่วัดในวันขึ้นปีใหม่ เสร็จแล้วก็ขอพรจากหลวงพ่อเจ้าอาวาส พระท่านก็เขียนคำอวยพรให้ว่า "พ่อตาย ลูกตาย หลานตาย" คหบดีเห็นเข้าก็โกรธ ต่อว่าหลวงพ่อว่าเหตุใดจึงมาแช่งกันในวันมงคลเช่นนั้น หลวงพ่อตอบคหบดีว่า การตายตามลำดับอายุขัยเป็นพรอย่างยิ่งแล้ว เพราะลองคิดดูว่าหากหลานตายก่อนปู่ หรือลูกตายก่อนพ่อ ตายอย่างไม่เป็นไปตามธรรมดา ธรรมชาติ เขาจะมิยิ่งโศกเศร้าหรอกหรือ คหบดีได้ฟังเช่นนั้นก็เข้าใจในธรรมที่หลวงพ่อให้ จึงขออภัยและคำนับขอบพระคุณด้วยความซาบซึ้งในธรรมที่ได้รับในวันขึ้นปีใหม่

ในวิถีแห่งพุทธนั้น"ความตาย" เป็นของธรรมดาอย่างยิ่ง เป็นสัจธรรมหาใช่ความอัปมงคล ต้องวิ่งหนีแต่อย่างไร กระนั้นก็ตามความเป็นธรรมดานี้ ก็มิใช่จะเป็นสิ่งที่มนุษย์ปุถุชนจะยอมรับกันได้โดยง่าย เพราะเราทุกคนย่อมมีสัญชาติญาณแห่งการเอาชีวิตรอดด้วย ในด้านหนึ่งความ "กลัวตาย" จึงเป็นสิ่งธรรมดาอีกเช่นกัน ดังนั้น กระบวนการเรียนรู้เพื่อขัดเกลาธรรมชาติอย่างหลัง เพื่อให้คนเรายอมรับสัจธรรมแห่งชีวิตคือความตายนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้เราสามารถจัดระเบียบกับความตายในชีวิตของเราได้อย่างเหมาะสม ด้วยความตระหนักรู้ว่าความตายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา (แม้จะไม่รู้ว่ามันอยู่ตรงไหนและจะมาเมื่อไร) การสั่งสมการเรียนรู้เพื่อให้ยอมรับว่าความตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต จึงเป็นสิ่งจำเป็นทั้งในยามที่เรายังเป็นหนุ่มสาวและเป็นไม้ใกล้ฝั่ง มิใช่เฉพาะเมื่อเราอายุมากขึ้น หรือเมื่อถูกคุกคามด้วยโรคร้ายที่ไม่อาจรักษา ในวัฒนธรรมของชาวพุทธการหมั่นเจริญมรณานุสติคือวิถีหนึ่งที่ช่วยเราไม่ให้ประมาทในชีวิต ไม่ผลัดวันประกันพรุ่งในการพัฒนาตนเอง ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยความกลัวตายอย่างทุรนทุราย เสมือนคนวิ่งหนีเงาตนเอง แต่ก็มิใช่ยอมจำนนกับอุปสรรคของชีวิต ด้วยการเอาความตายเป็นทางออกโดยไม่พัฒนาตนเองขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาที่เผชิญนั้น ในทางตรงข้าม ผู้มีสติซึ่งตระหนักรู้ว่าความตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่จะมาถึงเองในวันหนึ่งข้างหน้า จึงควรอดทนต่อสู้ให้อุปสรรคผ่านพ้นไปตราบที่ยังมีลมหายใจ

กระบวนการเรียนรู้เพื่อจัดระเบียบความตาย จึงเป็นสิ่งที่บุคคลควรได้เรียนรู้อยู่ตลอดเวลาในวัฒนธรรมหรือวิถีชีวิต ในสมัยเดิมนั้น การที่ครอบครัวอยู่ร่วมกันหลายช่วงอายุ การเปลี่ยนแปลงของกายสังขาร การเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสิ่งที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้อย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง โดยเฉพาะธรรมเนียมการเตรียมตัวตายของผู้สูงอายุ การตั้งศพ - เก็บศพที่บ้าน เพื่อให้ความตาย-คนตายเป็นสิ่งธรรมดา ประเพณีพิธีกรรมของการตายเป็นเครื่องมือสำคัญของการส่งผ่าน "สัจธรรมแห่งการตาย" ให้แก่ผู้อยู่ใกล้ชิดได้เรียนรู้ ไม่ว่าบทสวดต่าง ๆ ของพระซึ่งมุ่งให้เห็นความเป็นธรรมดาของความตาย ประเพณีการอุทิศส่วนกุศล พิธีตัดทางกล้วยเพื่อแยกภพระหว่างผู้อยู่และผู้วายชนม์ ฯลฯ ล้วนส่งผ่านความเชื่อว่าความตายมิใช ่"การสิ้นสุด" หรือจบสิ้น จึงไม่ต้องเศร้าโศกฟูมฟายจนเกินไป โดยเฉพาะธรรมเนียมการเก็บศพแล้วเปิดโลงก่อนเผา เพื่อให้ญาติพี่น้องคลายความเศร้าโศกเพราะศพสภาพเปลี่ยนเป็นน่าเกลียดน่ากลัว เกิดความปลงสังเวชตัดอาลัยในรูปกาย รำลึกถึงแต่คุณงามความดีของผู้ล่วงลับ การเรียนรู้นี้ มิได้เกิดขึ้นเฉพาะในครอบครัวผู้ตายเท่านั้น หากยังเป็นบทเรียนมรณานุสติแก่คนทั้งชุมชนด้วย จากการมาร่วมพิธีกรรมต่าง ๆ ได้ร่วมแบ่งปันทั้งความรู้สึกเอื้ออาทรและทรัพยากรที่ตนเองมีเพื่อช่วยจัดการศพ มีการขอขมาและการให้อโหสิกรรมเพื่อละวางความอาฆาตจองเวร และตระหนักรู้ว่ามนุษย์ทำผิดพลาดกันได้ ควรให้อภัยแก่กันและกัน และในขั้นตอนสุดท้ายคือการเผาศพ ก็เป็นโอกาสให้คนในชุมชนทั้งหมดมาร่วมกันเฝ้าดูการสิ้นสุดแห่งรูปกายที่มิอาจพกพาสิ่งใดไปได้ เกิดการปล่อยวางความโลภ ความโกรธ และความหลง ประเพณีเกี่ยวกับความตายจึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ให้ดีขึ้นอย่างสำคัญ

สังคมสมัยใหม่ได้ทำให้สาระของประเพณีพิธีกรรม ซึ่งทำหน้าที่ส่งผ่านค่านิยมความเชื่อ ในเรื่องเกี่ยวกับความตาย เลือนหายไป ชีวิตสมัยใหม่จึงอยู่กันแบบไม่มีกระบวนการเรียนรู้ทั้งในระดับชีวิตและระดับสังคม ทุกวันนี้ผู้คนไปงานศพตามมารยาทมากกว่าอย่างอื่น คนยุคใหม่จึงมีชีวิตอยู่โดยลืมนึกไปว่าตัวเองต้องตาย จะมานึกถึงต่อเมื่อความตายเข้ามาสะกิดตนเองโดยตรงแล้วเท่านั้น คนสมัยใหม่ปฏิเสธพิธีกรรมว่างมงาย "ไม่เป็นวิทยาศาสตร์" โดยไม่เข้าใจว่า ค่านิยมความเชื่อในทางนามธรรม ไม่อาจส่งผ่านให้สืบเนื่องได้โดยอาศัยการสอนการพูดเพียงประการเดียว หากจะต้องมีรูปแบบหรือโครงสร้างแห่งการเรียนรู้ที่ช่วยให้บุคคลได้เข้ามาสัมผัสเรียนรู้ จนเกิดความ "ประจักษ์แก่ใจ" ในสัจธรรมร่วมกัน ไม่ว่าชีวิตหลังความตายจะมีหรือไม่ก็ตาม แต่การคิดเผื่อไว้ว่า ชีวิตเป็นวัฏฏะยังมีการเดินทางต่อหลังการตาย ได้ช่วยเอื้อให้มนุษย์รู้จักใช้ชีวิตในปัจจุบันด้วยความไม่ประมาท ไม่เบียดเบียนกัน มีความขวนขวายที่จะสะสมความดีงามที่เป็นประโยชน์แก่ตนเอง ผู้อื่น และโลก เพื่อไม่ให้เสียแรงที่เกิดมาใช้ทรัพยากรของผู้อื่นเปล่าๆ ไม่ว่าของมนุษย์ด้วยกันเอง, สังคม, โลก สันติสุขย่อมเกิดขึ้นแก่สรรพชีวิตในภพปัจจุบันอย่างทันตาเห็นมิใช่หรือ

อย่างน้อยที่สุด วิธีคิดดังกล่าว ย่อมดีกว่า มีประโยชน์มากกว่า การคิดว่าชีวิตปิดบัญชีเบ็ดเสร็จในครั้งเดียว ไม่รู้จะทำความดีไปทำไม ทำความชั่วดีกว่า ทำสิ่งที่ตนเองพอใจ อยากมี อยากเป็นให้สุด ๆ ไปเลย ใครจะหายนะอย่างไรไม่เป็นไร ทรัพยากรหมดโลกก็ช่าง (ใครอยู่ก่อนได้ใช้ก่อน) แต่ขณะเดียวกันตนเองก็ถูกบีบคั้นจากความทุกข์ที่พยายามจะต่อสู้แย่งชิงเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งต้องการ และทุรนทุรายจากความพยายามที่จะทำให้ชีวิตหนึ่งเดียวนี้แก่ช้าที่สุด อยู่นานมากที่สุด โลกทัศน์ของมนุษย์ที่มีต่อความตาย จึงทำให้โลกนี้เป็นได้ทั้งนรกและสวรรค์ในเวลาเดียว ขึ้นอยู่กับว่า เราจะตั้งท่าทีต่อความตายอย่างไร การจัดระเบียบความตายให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในความคิดและการใช้ชีวิตในสังคม จึงเป็นสิ่งที่เราอาจจะต้องช่วยกันคิดช่วยกันสร้างให้เกิดมีขึ้นมากกว่านี้

บางทีการได้เจริญมรณานุสติอาจช่วยให้บุคคลตระหนักรู้ว่า ได้มา ๔๐๐ เสียง หรือ ๕๐๐ เสียง ตายแล้วก็เอาอำนาจไปไม่ได้อยู่ดี ทิ้งไว้ข้างหลังไม่ทันข้ามวันก็สิ้นสลาย แต่หากทิ้งความดีงามไว้ แม้เอาไปไม่ได้เช่นกัน แต่ก็ไม่สิ้นสูญในชั่วข้ามคืน หากจะอยู่เป็นมรดกที่ยั่งยืนแก่ลูกหลานและมนุษยชาติไปเนิ่นนาน ข้ามภพข้ามชาติได้จริงทีเดียว